การกลั่นแกล้ง 6 ประเภทที่พ่อแม่ควรรู้จักไว้

เผยแพร่ครั้งแรก 21 มิ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
การกลั่นแกล้ง 6 ประเภทที่พ่อแม่ควรรู้จักไว้

เมื่อคนส่วนใหญ่คิดถึงการแกล้ง พวกเขามักจะนึกภาพเด็กผู้ชายต่อยกัน เตะกัน และตีกัน แต่การรังแกทางร่างกายเป็นเพียงชนิดหนึ่งของการกลั่นแกล้งที่เด็กมีส่วนร่วม ต่อไปนี้เป็นความรู้โดยสังเขปสำหรับการกลั่นแกล้ง 6 ประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดในโรงเรียน

การแกล้งทางร่างกาย

การกลั่นแกล้งดังกล่าวเป็นประเภทที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเด็กใช้กำลังทางกายเพื่อให้ได้อำนาจและการควบคุมเหนือเป้าหมายของพวกเขา ผู้รังแกมักจะมีขนาดตัวใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า และก้าวร้าวกว่าผู้ตกเป็นเหยื่อ ตัวอย่างของการกลั่นแกล้งประเภทนี้ได้แก่การเตะ ตี ต่อย ตบ ผลัก และการกระทำทางกายอื่น ๆ

การกลั่นแกล้งทางกายนั้นแตกต่างจากการกลั่นแกล้งในรูปแบบอื่น ๆ คือสามารถตรวจพบได้ง่ายที่สุด ผลคือการกลั่นแกล้งประเภทนี้กลายเป็นสิ่งที่คนคิดถึงมากที่สุดเมื่อนึกถึงการรังแก ยิ่งไปกว่านั้น การรังแกประเภทนี้ยังได้รับความสนใจในเชิงประวัติจากทางโรงเรียนมากกกว่าการกลั่นแกล้งชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ชัดเจนเท่าอีกด้วย

การกลั่นแกล้งโดยคำพูด

ผู้กระทำจะใช้คำพูด การระบุ หรือการเรียกชื่อเพื่อให้ได้อำนาจและการควบคุมเหนือเป้าหมาย โดยปกติแล้วผู้แกล้งจะใช้การดูถูกกันอย่างไม่ไว้หน้าเพื่อดูถูก ลดคุณค่า และทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด พวกเขาเลือกเป้าหมายจากรูปลักษณ์ภายนอก การกระทำ หรือพฤติกรรม การกลั่นแกล้งประเภทนี้ยังมักมุ่งเป้าไปที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษอีกด้วย

การกลั่นแกล้งด้วยคำพูดมักจะตรวจพบได้ยากมาก เนื่องจากการโจมตีมักเกิดขึ้นเมื่อผู้ใหญ่ไม่อยู่แถวนั้น ผลคือเป็นการพูดต่อกันมาแบบปากต่อปาก และยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใหญ่หลายคนก็รู้สึกว่าสิ่งที่เด็กพูดมักไม่ค่อยมีความสำคัญ พวกเขาจึงมักลงเอยโดยการบอกให้เหยื่อของการถูกรังแก “ช่างมัน” แต่นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการรังแกด้วยคำพูดและการเรียกชื่อมีผลกระทบที่ร้ายแรงตามมาที่จริงแล้วการรังแกดังกล่าวสามารถทำให้เกิดบาดแผลลึกในใจได้เลยทีเดียว

การคุกคามในเชิงสัมพันธภาพ (Relational aggression)

การคุกคามในเชิงสัมพันธภาพเป็นการกลั่นแกล้งที่ซ่อนเร้นและค่อยเป็นค่อยไป โดยที่ผู้ปกครองและครูมักไม่ได้สังเกต และบางครั้งอาจเรียกว่าการกลั่นแกล้งทางอารมณ์ การกลั่นแกล้งประเภทดังกล่าวเป็นชนิดหนึ่งของการควบคุมทางสังคมที่วัยก่อนวัยรุ่นและวัยรุ่นพยายามทำร้ายผู้ตกเป็นเหยื่อหรือทำลายสถานะทางสังคมของพวกเขา ผู้รังแกมักจะแบ่งแยกผู้อื่นออกจากกลุ่ม กระจายข่าวลือ ควบคุมสถานการณ์ และทำลายความมั่นใจ เป้าหมายเบื้องหลังการกลั่นแกล้งประเภทนี้คือการเพิ่มสถานะทางสังคมของตนโดยการควบคุมหรือการแกล้งผู้อื่น

โดยทั่วไปแล้ว เด็กผู้หญิงมักใช้การกลั่นแกล้งประเภทนี้มากกว่าเด็กผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงระหว่างประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนต้น (5th-8th grade) ผลคือเด็กผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งดังกล่าวมักถูกเรียกเป็นยัยตัวร้าย (mean girls หรือ frenemies)

วัยรุ่นหรือเด็กก่อนวัยรุ่นที่ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามในเชิงสัมพันธภาพมักจะถูกแหย่ ถูกดูถูก เพิกเฉย แบ่งแยก และคุกคาม ถึงแม้ว่าการกลั่นแกล้งชนิดนี้จะพบได้บ่อยในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วัยก่อนวัยรุ่นเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว เจ้านายประเภทที่ชอบกลั่นแกล้งและการกลั่นแกล้งในที่ทำงานก็มักเกี่ยวข้องกับการรังแกประเภทนี้เช่นกัน

การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying)

เมื่อเด็กก่อนวัยรุ่นหรือวัยรุ่นใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อตามรังควาน ข่มขู่ หรือทำให้อับอาย หรือพุ่งเป้าหมายไปที่คนอื่น สิ่งนี้จะเรียกว่าการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ แต่หากมีผู้ใหญ่มาเกี่ยวข้องด้วยในการตามรบกวนดังกล่าว จะเรียกว่า cyber-harassment หรือ cyberstalking (ภาวะแอบเกาะติดชีวิตออนไลน์) ตัวอย่างของการกลั่นแกล้งทางออนไลน์มีทั้งการโพสต์รูปที่ทำให้เกิดความเสียหาย การข่มขู่ทางออนไลน์ และการส่งอีเมลหรือข้อความที่ทำให้เกิดความเสียหาย

เนื่องจากวัยรุ่นและเด็กก่อนวัยรุ่นมักจะใช้อินเทอร์เน็ต การกลั่นแกล้งประเภทนี้จึงเป็นประเด็นที่กำลังขยายใหญ่ขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อย และยังขยายวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากผู้กระทำสามารถตามรังควานเป้าหมายได้โดยมีความเสี่ยงที่จะถูกจับได้น้อยกว่ามาก

ผู้กลั่นแกล้งด้วยวิธีนี้มักพูดว่าพวกเขาไม่กล้าเผชิญหน้าโดยตรง เนื่องจากเทคโนโลยีทำให้พวกเขารู้สึกไร้ตัวตน มีเกราะกำบัง และห่างเหินจากสถานการณ์จริง ผลคือการกลั่นแกล้งทางออนไลน์มักจะโหดร้าย สำหรับเหยื่อแล้วจะรู้สึกเหมือนถูกคุกคามไม่รู้จบสิ้น ผู้กระทำสามารถเข้าถึงพวกเขาที่ไหนและเมื่อไรก็ได้ โดยเฉพาะแม้เมื่ออยู่ที่บ้านอย่างปลอดภัยก็ตาม ผลกระทบที่ตามมาจากการกลั่นแกล้งประเภทนี้ยังสำคัญอีกด้วย

การกลั่นแกล้งทางเพศ

การกลั่นแกล้งทางเพศประกอบไปด้วยการกระทำซ้ำ ๆ ที่ทำให้เกิดความอับอายและความรำคาญแก่ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายในทางเพศ ตัวอย่างเช่น การเรียกชื่อโดยมีนัยทางเพศ การแสดงความเห็นอย่างหยาบคาย ท่าทางที่หยาบโลน การสัมผัสโดยที่ไม่ได้อนุญาต การยื่นข้อเสนอโดยมีนัยทางเพศและสื่อลามก ตัวอย่างเช่น ผู้กลั่นแกล้งอาจแสดงความเห็นอย่างหยาบคายเกี่ยวกับรูปร่างของเด็กผู้หญิง ความมีเสน่ห์ดึงดูด พัฒนาการทางเพศหรือกิจกรรมทางเพศ ในกรณีที่ร้ายแรงมาก ๆ การกลั่นแกล้งทางเพศอาจนำไปสู่การทารุณกรรมทางเพศได้

เด็กผู้หญิงมักตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งชนิดนี้ ทั้งจากเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงคนอื่น ๆ เด็กผู้ชายอาจสัมผัสพวกเธออย่างไม่เหมาะสม แสดงความเห็นหยาบคายต่อรูปร่างหรือสร้างเรื่องราว ในอีกแง่หนึ่ง เด็กผู้หญิงอาจเรียกชื่อเด็กหญิงคนอื่น ๆ เช่น “ร่าน” หรือ “แรด” หรือแสดงความเห็นในเชิงดูถูกเกี่ยวกับรูปลักษณ์หรือรูปร่าง และอาจเกี่ยวข้องกับการทำให้อับอาย

Sexting ก็อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งทางเพศได้ ตัวอย่างเช่น เด็กผู้หญิงอาจส่งรูปตัวเธอเองไปให้แฟนหนุ่ม แต่เมื่อเลิกกันแล้ว ทางผู้ชายแชร์รูปนั้นให้ทั้งโรงเรียนได้เห็น ผลก็คือ เธอตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งทางเพศเนื่องจากผู้คนล้อเล่นกับรูปร่างของเธอ เรียกเธอด้วยชื่อที่หยาบคายและแสดงความเห็นหยาบโลน เด็กผู้ชายบางคนอาจเห็นสิ่งนี้เป็นโอกาสในการยื่นข้อเสนอเพื่อข่มขู่หรือทำทารุณก็ได้

การกลั่นแกล้งโดยอคติ (Prejudicial bullying)

การกลั่นแกล้งดังกล่าวขึ้นอยู่กับอคติที่เด็กก่อนวัยรุ่นและวัยรุ่นมีต่อผู้คนที่ต่างเชื้อชาติ ศาสนา หรือรสนิยมทางเพศ การกลั่นแกล้งประเภทนี้อาจร่วมกับการกลั่นแกล้งชนิดอื่น ๆ รวมทั้งการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ทางคำพูด ความสัมพันธ์ ทางกาย และบางครั้งก็เป็นการกลั่นแกล้งทางเพศด้วย

เมื่อเกิดการกลั่นแกล้งโดยอคติ เด็กจะพุ่งเป้าไปยังคนอื่นที่แตกต่างจากพวกเขาและแบ่งแยกคนเหล่านั้นออกไป บ่อยครั้งที่การกลั่นแกล้งประเภทนี้รุนแรงและนำไปสู่อาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) ได้ เมื่อใดก็ตามที่เด็กถูกรังแกเนื่องจากเชื้อชาติ ศาสนา หรือรสนิยมทางเพศ การกลั่นแกล้งดังกล่าวควรจะต้องถูกรายงานให้ทราบ


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bullying Facts, Statistics, Prevention & Effects. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/bullying/article.htm)
4 Types of Bullying Parents Should Know About. Parents. (https://www.parents.com/kids/problems/bullying/common-types-of-bullying/)
6 Types of Bullying Parents Should Know About. Verywell Family. (https://www.verywellfamily.com/types-of-bullying-parents-should-know-about-4153882)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)